You are using an outdated browser. For a faster, safer browsing experience, upgrade for free today.

บทความ

Blog

การตรวจสอบอาคาร

ตรวจสอบอาคาร
บริการรับ ตรวจสอบอาคาร คอนโด โรงงาน โรงแรม ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เพื่อยื่นขอใบรับรองการตรวจสอบอาคาร ร.1 ประจำปี โดยวิศวกร เรามุ่งมั่นพัฒนาทีมงาน เครื่องมือ อุปกรณ์และวิธีการทำงานเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุด รวดเร็วตามแผนงาน ด้วยราคาที่เหมาะสม ควบคู่กับมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานวิศวกรรมและกฎหมายควบคุมอาคาร โดยมีเป้าหมายสูงสุดของการตรวจสอบสภาพอาคารเพื่อให้เกิดความความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกาย สุขภาพ และ ทรัพย์สิน โดยการตรวจสอบใหญ่จะเพิ่มรายละเอียดการตรวจและเพิ่มรายงานมากกว่าการตรวจสอบประจำปี แต่ไม่เพิ่มราคา
ตรวจสอบความปลอดภัยใช้งานอาคาร ตรวจสอบอาคาร โดยวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาวิศวกรและได้รับใบอนุญาตผู้ตรวจสอบอาคารจากกรมโยธาธิการและผังเมือง 
ตรวจสอบอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ตรวจสอบอาคาร คือการตรวจสอบสภาพอาคารด้านความมั่นคงแข็งแรงของอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่างๆของอาคาร มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้อาคารและสร้างความปลอดภัยในการใช้อาคารอย่างถูกต้อง อุปกรณ์ของงานวิศวกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของงานในอาคาร ประกอบด้วยระบบบริการและอำนวยความสะดวก ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ปกติมีราคาสูง ซึ่งเราจะต้องใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามกฏหมาย มาตรฐาน โดยการตรวจสอบนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การประเมินความสามารถในการทำงานของระบบต่างๆว่าอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถใช้งานได้ตามปกติ หากเจ้าของอาคารได้รับใบรับรองการ ตรวจสอบอาคาร ร.1 ไม่ได้หมายความว่าอาคารหลังนั้นถูกกฎหมายไปด้วย เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังคงมีอำนาจตามกฎหมายอื่นๆ ในการตรวจสอบตามกฎหมายอยู่ซึ่งสามารถออก ตรวจสอบอาคาร และออกคำสั่งให้อาคารที่ยังผิดกฎหมายแก้ไขให้ถูกต้องได้เหมือนเดิม ตรวจสอบอาคาร จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในเรื่องการตรวจสอบการใช้อาคารอย่างปลอดภัย
ตรวจสอบอาคาร และทำรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคาร
1. การ ตรวจสอบตัวอาคาร ให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร
2. การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร
2.1 ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
2.2 ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
2.3 ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
3. การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการอพยพ
4. การตรวจสอบระบบบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัยในอาคาร
ข้อมูลประกอบการเสนอราคา ตรวจสอบอาคาร
1. ชื่อ-ที่อยู่ นิติบุคคลอาคารชุด หรือ ชื่อ-ที่อยู่ อาคาร / โรงงาน / โรงแรม
2. จำนวนอาคารที่ต้องการตรวจสอบ
3. จำนวนชั้น, จำนวนห้อง (กรณีอาคารชุด), พื้นที่รวมของแต่ละอาคาร (ตารางเมตร) 
4. จำนวนบันไดต่อเนื่องทั้งหมดที่นำคนออกสู่ชั้นพื้นดิน (ไม่รวมบันไดลานจอดรถ)
5. จำนวน Fire Pump, Generator, Pressurize Fan (ถ้ามี)
6. เคยได้รับใบรับรองการตรวจสอบอาคาร ( ร.1 ) มาก่อนหรือไม่
7. เป็นการตรวจสอบใหญ่ หรือ การตรวจสอบประจำปี

 

    ทำไมต้องตรวจสอบอาคาร

    การตรวจสอบอาคาร
         การตรวจสอบอาคาร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในการใช้อาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบของอาคาร โดยผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกต ทำรายงาน ได้แก่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง ระบบบริการและอำนวยความสะดวก ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ทดสอบสมรรถนะระบบที่เกี่ยวข้องกับการหนีไฟ ตลอดจนการบริหารจัดการความปลอดภัย เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยในการใช้อาคาร
        ประวัติความเป็นมาของการตรวจสอบอาคาร โดยที่มาตรา ๓๒ ทวิ (๓)แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี เพื่อทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการใช้อาคาร เพื่อขอใบรับรองการตรวจสอบอาคาร มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา ๔๖ ทวิ และ๖๕ ทวิ ถึงขั้นถูกสั่งปิดและห้ามใช้อาคารทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคาร และต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยต้องระวางโทษปรับอีกวันละ 10,000บาท จนกว่าจะดำเนินการตรวจสอบและส่งรายงานต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วเสร็จ โดยให้มีผลบังคับใช้กับอาคาร 9 ประเภท ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ภายในระยะเวลา 2 ปี
          ผู้ตรวจสอบอาคาร คือผู้ที่ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ตามที่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารกำหนด
       1) มีหน้าที่เข้าตรวจสอบอาคาร โดยตรวจสอบเรื่องโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยในการใช้อาคาร การดัดแปลงต่อเติม ระบบแจ้งเหตุเพลิงใหม้ ระบบดับเพลิง ป้ายทางออกฉุกเฉิน ทางหนีไฟ ระบบไฟฟ้า และแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
       2) เพื่อจัดทำเป็นรายงานการตรวจสอบอาคารให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ประกอบการ พิจารณาอนุญาตใช้อาคารนั้นๆ
          ขอบเขตของผู้ตรวจสอบอาคาร
          การตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ตามที่กำหนดและตามที่ต้องการได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตของผู้ตรวจสอบ ดังนี้
          “ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกตด้วยสายตาพร้อมด้วยเครื่องมือพื้นฐานเท่านั้น จะไม่รวมถึงการทดสอบที่อาศัยเครื่องมือพิเศษเฉพาะ ทำรายงาน รวบรวมและสรุปผลการ วิเคราะห์ ทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้สอยอาคาร แล้วจัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่ทำการตรวจสอบนั้นให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อให้เจ้าของอาคารเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี
          ผู้ตรวจสอบต้องตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
       1.หลักเกณฑ์ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการก่อสร้างอาคารนั้น หรือ
       2. มาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันของทางราชการ สภาวิศวกร หรือสภาสถาปนิก
          ทั้งนี้ ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น”
          การเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบอาคารได้นั้นจะต้องเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพ ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบอาคารไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะมีสิทธิ์สอบเพื่อวัดความรู้จากสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก จึงจะไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารกับกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ และต้องมีการทำประกันวิชาชีพจึงจะเป็นผู้ตรวจสอบอาคารได้โดยสมบูรณ์ [3]
          ทั้งนี้ขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว ทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบอาคาร หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอน และหลักเกณฑ์การตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เกิดวิชาชีพผู้ตรวจสอบอาคารขึ้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (14) ได้กำหนดให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะ และลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบอาคาร ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งผู้ตรวจสอบอาคารจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายควบคุมอาคาร
          ปัจจุบันคณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้กำหนดให้ผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร จะต้องเข้ารับการอบรมโดยสถาบันซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการ โดยแบ่งการอบรมเป็นภาคทฤษฎีจำนวน 33 ชั่วโมง และภาคการปฏิบัติจำนวน 12 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 45 ชั่วโมง และจะต้องมีการทดสอบความรู้ความสามารถของผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารมีแนวความคิดให้สภาวิศวกร และ / หรือ สภาสถาปนิก เป็นหน่วยงานกลางที่ดำเนินการดูแลเรื่องการจัดสอบ และส่งผลการทดสอบให้กรมโยธาธิการเพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ตรวจสอบอาคารต่อไป ซึ่งสภาวิศวกรได้ทำหนังสือตอบรับยินดีจะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อดำเนินการดังกล่าว และล่าสุด กฎกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบอาคาร ติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคาร ซึ่งออกตามความในมาตรา 8 (15) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมาย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงทั้งสองฉบับได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา
          อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบอาคาร อาคารที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารตาม พรบ.ควบคุมอาคาร มีทั้งหมด 9 ประเภท ได้แก่
      - อาคารสูง (อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพท้นดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของ ชั้นสูงสุด)
      - อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่ อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่หนึ่งหมื่นตารางเมตรขึ้นไป)
      - อาคาร ชุมชนคน (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อใช้ประโยชน์ในการ ชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่หนึ่งพันตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป)
      - โรงมหรสพ (อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม)
      - โรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่แปดสิบห้องขึ้นไป
      - อาคาร ชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำกรับหลายครอบ ครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

       สำหรับอาคารชุด และอาคารอยู่อาศัยรวมที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจะได้รับการผ่อนผันการตรวจสอบคือ - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันในหลังเดียวกันไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2555 - กรณีที่มีพื้นที่อาคารรวมกันเกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ทำการตรวจสอบและส่งผลการตรวจสอบก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2553
      - อาคารโรงงานที่สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
      - ป้าย สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้ง บนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป
      - สถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
    ทั้งนี้อาคารทั้ง 9 ประเภท (เว้นแต่อาคารตามข้อ 6 ที่ไม่เข้าข่ายเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ) ต้องถูกตรวจสอบและส่งรายงานการตรวจสอบก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2550 สำหรับกรณีพื้นที่นอกเขตควบคุมอาคาร (พื้นที่ที่ยังไม่มีการประกาศพระราชกษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง) อาคารที่ต้องทำการตรวจสอบมี 4 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพ

          ประเภทของการตรวจสอบอาคาร
        การตรวจสอบใหญ่ กระทำทุก 5 ปี กำหนดให้การตรวจสอบครั้งแรก เป็นการตรวจสอบใหญ่ และกระทำทุก 5 ปี
        การตรวจสอบประจำปี ซึ่งเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี มิให้ขาด

       หน้าที่รับผิดชอบ ในการตรวจสอบอาคาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
          1. หน้าที่ของผู้ตรวจสอบอาคาร
          2. หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้จัดการ นิติบุคคล
          3. หน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นหน้าที่ของ

        ผู้ตรวจสอบอาคาร
       - ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร และ อุปกรณ์ประกอบ ตามแผนบริหารจัดการ ของผู้ตรวจสอบ
       -จัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคาร และ อุปกรณ์ประกอบ ให้แก่เจ้าของอาคาร
       - หากพบว่ามีบางรายการ ไม่ผ่านเกณฑ์ ให้จัดทำข้อ เสนอแนะ และแนวทางการปรับปรุงแก้ไข แก่เจ้า ของอาคาร

          หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือ ผู้จัดการนิติบุคคล
       -จัดหา หรือ จัดทำแบบแปลนการตรวจสอบอาคาร และอุปกรณ์ ประกอบอาคารทุกรายการที่ต้องตรวจสอบ
       - เสนอรายงานผลการตรวจสอบ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี โดยเสนอภายใน 30 วัน ก่อนใบรับรองการตรวจสอบฉบับเดิมครบกำหนด
     - ให้แสดงใบรับรองการตรวจสอบอาคารติดไว้ในที่เปิดเผยที่เห็นได้ง่าย
       -จัดให้มีการตรวจและทดสอบระบบโดยละเอียดตามแผนที่กำหนด
       -จัดให้มีการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาตามช่วงเวลาที่กำหนด
       -จัดให้มีการทดสอบสมรรถนะระบบความปลอดภัย การซ้อมหนีไฟ การบริหารจัดการความปลอดภัย และ อบรมพนักงาน

          หน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
       -เมื่อได้รับรายงานแล้ว ให้แจ้งเจ้าของอาคารทราบถึง ผลการพิจารณา ใน 30 วัน นับแต่วันได้รับรายงาน ผลการตรวจสอบ
       -ในกรณีที่เห็นว่าอาคารดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในการใช้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ออกใบรับรองการตรวจอาคาร ให้แก่เจ้าของอาคาร โดยไม่ชักช้า โดยไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ

        “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” หมายความว่า
    - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับในเขตกทม.
    - นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
    - ประธานกรรมการบริหาร ( นายก ) องค์การบริหารส่วนตำบลสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
    - นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
    - ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

    รายการที่ตรวจสอบอาคาร การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบอาคารต้องมีอย่างน้อยดังต่อไปนี้
       1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้
         1.1 การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
         1.2 การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
         1.3 การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
         1.4 การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
         1.5 การชำรุดสึกหรอของอาคาร
         1.6 การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
         1.7 การทรุดตัวของฐานรากอาคาร
       2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคาร
         2.1 ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
         2.2 ระบบลิฟท์
         2.3 ระบบบันไดเลื่อน
         2.4 ระบบไฟฟ้า
         2.5 ระบบปรับอากาศ
         2.6 ระบบสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
         2.7 ระบบประปา
         2.8 ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
         2.9 ระบบระบายน้ำฝน
         2.10 ระบบจัดการมูลฝอย
         2.11 ระบบระบายอากาศ
         2.12 ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
         2.13 ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
         2.14 บันไดหนีไฟและ ทางหนีไฟ
         2.15 เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
         2.16 ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
         2.17 ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
         2.18 ระบบลิฟท์ดับเพลิง
         2.19 ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงใหม้
         2.20 ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
         2.21ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
         2.22 ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
         2.23 ระบบป้องกันฟ้าผ่า

       3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร
         3.1 สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
         3.2 สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออก ฉุกเฉิน
         3.3 สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงใหม้
       4) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
         4.1 แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
         4.2 แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
         4.4 แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
         4.5 แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร

    บทลงโทษ
        บทลงโทษตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ 2522 มาตรา 65 ทวิ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ทวิ ( การส่งรายงานตรวจสอบอาคาร ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อีกทั้งมีผลกระทบด้านอื่น เช่น ในกรณีที่ต้องใช้ใบรับรองอาคาร ประกอบในเอกสารขออนุญาตอื่น เช่น ใบประกอบการโรงงาน ใบประกอบการโรงแรม เป็นต้น

       สรุป การตรวจสอบอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและกฎกระทรวง เป็นการตรวจสอบอาคารโดยเน้นที่ ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยในการใช้อาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบของอาคารเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ตรวจสอบอาคาร จะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ และจรรยาบรรณ

     

      ทำไมต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี

      ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี

      ตรวจสอบรับรองความปลอดภัย ระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า (กระทรวงแรงงาน) กฎกระทรวง “กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558”

      ข้อ ๑๒ นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบํารุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และให้บุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๙ หรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วแต่กรณี เป็นผู้จัดทําบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

      ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทําบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า

      ข้อ ๒ ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบํารุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าของสถานประกอบกิจการเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และจัดทําบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า

      ตามแบบท้ายประกาศนี้ กรณีนายจ้างได้ดําเนินการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยมีวิศวกรไฟฟ้าเป็นผู้บันทึกผลการตรวจสอบให้ถือว่าเป็นการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามประกาศฉบับนี้ ทั้งนี้ ผู้จัดทําบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองต้องเป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๙ หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วแต่กรณี

      ข้อ ๓ ให้นายจ้างแจ้งผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตรวจสอบ

       

        สาเหตุของการเกิดรอยแตกร้าว

        รอยแตกร้าวบนผนัง
        ปูนซีเมนต์ที่ใช้ฉาบผนังบ้านนั้นมันมีการหดตัวหรือขยายตัวได้ โดยมีอุณหภูมิหรือสภาวะแวดล้อมภายนอกเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (จะมองเห็นก็ตอนที่มันเกิดการแตกร้าวแล้ว) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแตกร้าวมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เกิดจากฝีมือช่างไม่ดี , ส่วนผสมไม่ถูกต้อง, การเตรียมผิวผนังก่อนทำการฉาบปูนไม่ดี เช่น ไม่รดน้ำให้อิฐเปียกชุ่มก่อนทำการฉาบ เมื่อฉาบปูนผนังไปแล้วทำให้อิฐดูดซึมน้ำจากปูนฉาบทำให้ผนังที่ฉาบปูนแห้งเร็วเกินไปทำให้เกิดการแตกร้าวหลุดร่อนในภายหลัง , ระยะเวลาในการฉาบปูนหรือขั้นตอนในการฉาบปูนผนังไม่ถูกต้อง ฯลฯ อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ความร้อนจากแสงแดด, ลม, ฝนหรือความชื้น เป็นต้น พูดง่ายๆว่าโดนร้อนก็ขยายตัว โดนชื้นก็หดตัว เมื่อมีการขยายตัวหรือหดตัวของปูนที่ฉาบผนังการแตกร้าวก็ตามมา แต่ถ้าขั้นตอนการฉาบปูนหรืออัตราส่วนผสมถูกต้อง มีการบ่มผนังบ้านที่ฉาบเสร็จแล้วอย่างถูกวิธี ก็จะลดอัตราการแตกร้าวของผนังให้น้อยลงได้

         

          รอยร้าวบนผนังตามผิวฉาบ

          รอยร้าวบนผนังตามผิวฉาบ เป็นรอยบนผนังที่เรามักจะพบเจอกันอยู่เป็นประจำและพบเห็นได้ทั่วไปทั้งตามบ้านและอาคารสูง ลักษณะเป็นรอยร้าวขนาดเล็กเท่าไส้ดินสอกดมีหลายเส้นและมีทิศทางที่ต่างๆ กัน ส่วนใหญ่ปัญหานี้มักเกิดตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างที่มีสาเหตุย่อยไปอีกหลากหลาย เช่น ขณะก่อสร้างอาจจะมีการพรมน้ำไม่พอทำให้ปูนฉาบเกิดการสูญเสียน้ำเร็วไปจนเกิดเป็นรอยแยกเล็กๆ บางสาเหตุเกิดจากการสั่นสะเทือนหลังจากการฉาบ หรือผนังที่ฉาบเป็นผืนขนาดใหญ่มากก็จะฉาบให้เรียบยากหน่อย ต้องอาศัยการเซาะร่องเข้าช่วยไม่อย่างนั้นจะเกิดการตึงตัวของผิวฉาบปูนที่มากเกินไป

            รอยร้าวช่วงรอยต่อของผนังชนคาน

            รอยร้าวช่วงรอยต่อของผนังชนคาน ลักษณะของรอยร้าวนี้จะเกิดการแตกร้าวเป็นเส้นระหว่างใต้คานกับผนัง ซึ่งเป็นรอยร้าวสำคัญที่ทำให้น้ำฝนไหลเข้าตัวบ้านได้ ความอันตรายของรอยร้าวในส่วนนี้นั้นยังไม่มาก เพราะอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้น ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านแต่ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างของอาคาร สาเหตุของรอยร้าวนี้มักเกิดตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง การผิดขั้นตอนหรือเร่งฉาบปูนเร็วเกินไป ทำให้ปูนเกิดการหดตัวลง เล็กน้อย จนเกิดเป็นรอยร้าวเล็กๆ ระหว่างผนังกับคานขึ้นมาได้ หรือบางทีก็อาจเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังที่ไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้งเกาะยึดกับโครงสร้างคาน หรือเสียบแต่ไม่แน่นพอ ทำให้ผนังเกิดรอยร้าวระหว่างรอยต่อของคานวิธีจัดการกับปัญหานี้ที่ดีที่สุดคือ ต้องควบคุมการก่อสร้างตั้งแต่แรก วิธีแก้ปัญหา โดยการใช้ซิลิโคนหรืออครีลิกยิงเข้าไประหว่างร่อง ด้วยคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่นของสารเชื่อมประสานจะช่วยอุดรอยร้าวได้ แต่เป็นแบบแค่ชั่วคราว 2-4 ปีเท่านั้น ก็คงต้องกลับมาแก้ไขกันอีก แต่ถ้าต้องการซ่อมแบบถาวรก็คงต้องทุบรื้อผนังบางส่วนที่ติดกับคานนั้นออก ทำการก่ออิฐเสริมเข้าไปใหม่แล้วฉาบปูนอีกครั้งหนึ่ง

              รอยร้าวตามมุมวงกบหน้าต่าง

              รอยร้าวตามมุมวงกบหน้าต่าง ประตูนอกจากรอยร้าวตามผนังแล้วอีกจุดหนึ่งที่มักจะพบเจอได้บ่อยเช่นกันคือ รอยร้าวตามมุมวงกบประตูหน้าต่าง เป็นจุดที่เกิดรอยร้าวได้ง่าย จึงมักมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาจากจุดนี้ สาเหตุเกิดจากบริเวณมุมวงกบมักจะมีแรงดึงมาก ทำให้การกระจายแรงบนผิวฉาบไม่เท่ากันจึงเกิดการแตกร้าวได้ง่ายบริเวณมุมวงกบ ตามปกติในการก่อสร้างจึงต้องใส่เหล็กกรงไก่เพื่อช่วยดึงให้วงกบประตูกับผนังอยู่ติดกัน แต่บางทีการใส่เหล็กที่ไม่มากพอ ติดตั้งไม่ดี หรือฉาบหนาเกินไปก็เป็นสาเหตุให้เกิดรอยร้าวได้ สำหรับวิธีการแก้ไข ถ้าเป็นรอยร้าวเพียงเล็กน้อยอาจใช้ยาแนวหรืออะคริลิกอุดแล้วทาสีทับ แต่หากรอยร้าวมีขนาดใหญ่ก็ควรเปลี่ยนประตูหน้าต่างใหม่ แล้วควบคุมการติดตั้งให้ได้มาตรฐาน มีการใช้ลวดกรงไก่มายึดติดกับผนังอิฐแล้วค่อยฉาบปูนใหม่